ภาษา

บทความเพื่อสุขภาพ

ค้นหาบทความ

การตรวจอัลตร้าซาวด์ไตรมาส 2

    เมื่อการตั้งครรภ์ดำเนินมาถึงช่วง 4-5 เดือน คุณหมอที่ฝากครรภ์มักจะแนะนำให้คุณแม่รับการตรวจอัลตร้าซาวด์ คำถามยอดฮิตของคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ย่อมหนีไม่พ้นว่าลูกในท้องจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายใช่ไหมคะ แต่จริงๆแล้วการตรวจอัลตร้าซาวด์ในช่วงนี้มีประโยชน์อื่นๆนอกจากการบอกเพศของลูกมาก เราจะมาดูกันนะคะว่าคุณหมอจะดูอะไรได้บ้างจากการตรวจอัลตร้าซาวด์ช่วงนี้

การตรวจอัลตร้าซาวด์ไตรมาส 2 คืออะไร

    คือการตรวจอัลตร้าซาวด์ทารกในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 20-22 สัปดาห์อย่างละเอียด จุดประสงค์หลักคือการตรวจหาความผิดปกติทางโครงสร้างของอวัยวะหลักๆของทารกที่จะทำให้เด็กเกิดมามีความผิดปกติรุนแรง อายุครรภ์ในช่วงนี้ถือว่าเหมาะสมที่สุดค่ะเนื่องจากทารกโตพอที่จะสร้างอวัยวะครบและเห็นได้ชัดเจน แต่ไม่โตเกินไปจนบังไม่เห็นอวัยวะบางส่วน ส่วนหลักๆที่คุณหมอจะตรวจมีดังนี้

1.ส่วนศีรษะและสมอง

สามารถดูตั้งแต่กะโหลกศีรษะว่าสร้างครบหรือมีรูปร่างผิดปกติไหม และโครงสร้างหลักๆของสมอง รวมทั้งมีท่อระบายน้ำไขสันหลังอุดกั้นจนน้องมีศีรษะโตเป็นเด็กหัวบาตรหรือไม่

2.ใบหน้า

ดูโครงสร้างใบหน้า เน้นที่ช่วงจมูกและริมฝีปากบนเพื่อหาภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ รวมทั้งสันจมูกซึ่งสัมพันธ์กับกลุ่มอาการปัญญาอ่อนดาวน์

3.ส่วนอกและหัวใจ

นอกจากฟังการเต้นของหัวใจแล้ว คุณหมอจะดูโครงสร้างหัวใจทั้ง 4 ห้องและเส้นเลือดใหญ่ที่ออกจากห้องหัวใจไปเลี้ยงปอดและร่างกาย รวมทั้งมีโครงสร้างในช่องอกที่ผิดปกติ เช่นกระบังลมไม่ปิดทำให้ลำไส้ขึ้นมาบนช่องอก หรือมีก้อนในปอด

4.ส่วนท้อง

เราจะตรวจดูอวัยวะภายในท้อง เช่นกระเพาะอาหาร ตับ ไต และกระเพาะปัสสาวะว่ามีการสร้างเป็นปกติหรือไม่ รวมถึงดูผนังหน้าท้องว่าปิดดี ไม่มีกระเพาะลำไส้ออกมานอกตัว รวมถึงลักษณะของสายสะดือทารกและเส้นเลือดภายในว่าครบหรือไม่

5.แขนขาและกระดูกสันหลัง

อีกคำถามยอดฮิตของคุณพ่อคุณแม่คือกลัวลูกจะมีแขนขาไม่ครบ ซึ่งคุณหมอจะตรวจดูได้ว่าลูกมีแขนขา และมือเท้าครบทั้ง4ข้าง รวมทั้งตรวจว่ามีลักษณะแขนขาสั้นผิดปกติหรือไม่ แต่อาจจะไม่สามารถดูถึงขนาดและจำนวนของนิ้วมือนิ้วเท้าเนื่องจากมีขนาดเล็กเกินกว่าหมอจะนับอย่างมั่นใจได้นะคะ ส่วนกระดูกสันหลังคุณหมอจะดูลักษณะการเรียงตัวว่ามีการโก่งงอผิดปกติ หรือมีรูรั่วของไขสันหลังจากการที่กระดูกเชื่อมปิดไม่สนิทหรือไม่

6.เพศ

ในที่สุดก็ถึงเวลาดูเพศของลูก คุณหมอจะดูว่าเป็นเพศอะไร รวมถึงลักษณะอวัยวะเพศว่ามีความผิดปกติเช่นถุงน้ำอัณฑะด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตามถ้าลูกอยู่ในท่าที่ดูได้ยาก เช่นนอนคว่ำหรือหนีบขาแน่น อาจต้องรอลูกเปลี่ยนท่า หรือไม่สามารถบอกเพศได้ในการตรวจครั้งนั้นๆ

7.รกและน้ำคร่ำ

นอกจากตัวทารก รกและปริมาณน้ำคร่ำก็มีความสำคัญในการบอกสุขภาพทารก โดยจะวัดปริมาณน้ำคร่ำ และดูลักษณะของรกว่ามีความผิดปกติหรือไม่ โดยเฉพาะคุณแม่ที่เคยผ่าตัดคลอดมาก่อนซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะรกติดแน่นกับมดลูก รวมถึงตำแหน่งรกว่ามีรกเกาะต่ำด้วยหรือไม่

โดยทั้งหมดนี้จะตรวจโดยอัลตร้าซาวด์ 2 มิติ เนื่องจากเป็นวิธีที่เห็นรายละเอียดอวัยวะภายในได้ชัดเจนมากกว่า คุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการตรวจอัลตร้าซาวด์ 4 มิติเพื่อจะเห็นหน้าลูกชัดๆขอให้อดใจรอถึง 30-32 สัปดาห์ จะหน้าลูกได้ชัดเจนมากกว่านะคะ

การเตรียมตัวก่อนมารับการตรวจ

    เนื่องจากคุณหมอต้องตรวจอย่างละเอียดหลายระบบ รวมทั้งบางครั้งน้องอยู่ในท่าที่ดูได้ลำบาก จึงต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน โดยเฉลี่ย 20-30 นาทีหรือมากกว่านั้นจึงจะตรวจได้ครบถ้วนชัดเจน จึงขอให้คุณพ่อคุณแม่เผื่อเวลาสำหรับการมาตรวจเยอะๆนะคะ แต่ถ้าคุณหมอเห็นภาพไม่ชัดเจนจริงๆ โดยเฉพาะคุณแม่ที่ตัวค่อนข้างใหญ่ อาจต้องนัดคุณแม่มาตรวจซ้ำอีกครั้งในอีก 2-3 สัปดาห์เพื่อความมั่นใจค่ะ

     แม้ว่าการตรวจอัลตร้าซาวด์จะสามารถบอกรายละเอียดการเจริญเติบโตของลูกได้มากมายหลายระบบ แต่ก็มีข้อจำกัดของการตรวจเช่นกัน โดยไม่สามารถบอกรายละเอียดของอวัยวะที่มีขนาดเล็กมากๆ เช่น นิ้วมือ ใบหู เลนส์ตา ได้ค่ะ รวมถึงไม่สามารถบอกการทำงานของอวัยวะ เช่น การมองเห็น การได้ยิน หรือพัฒนาการ ว่าจะมีความผิดปกติได้หรือไม่นะคะ

      คุณพ่อคุณแม่ที่สนใจรับการตรวจอัลตร้าซาวด์ไตรมาส 2 หรือมีข้อสงสัย สามารถปรึกษาและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับสูติแพทย์ก่อนตัดสินใจรับการตรวจได้ค่ะ