ภาษา

บทความเพื่อสุขภาพ

ค้นหาบทความ

มือเท้าชาอย่านิ่งนอนใจ

มือเท้าชา อย่านิ่งนอนใจ
ถ้าจะพูดถึงอาการเหน็บชา หลายคนอาจจะเป็นบ่อยจนไม่เคยสนใจ คิดว่าเป็นแล้วเดี๋ยวก็หาย ไม่น่าจะมีอะไรร้ายแรง และเป็นอาการธรรมชาติของคน แต่อาการ “เหน็บชา” ที่เกิดบ่อยมากเกินไปอาจเป็นสัญญาณของอันตรายได้
อาการชาของบางคนนั้นบ่งบอกได้ถึงความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับ “การกดทับของเส้นประสาทบริเวณต่างๆ” ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาการหลับลึก เมาสุรา ป่วยหนัก พิการทางสมอง จนเส้นประสาทที่ถูกกดทับช้ำมากจนไม่สามารถฟื้นคืนสภาพปกติภายในเวลาอันสั้น หากเป็นเช่นนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยทันที
บริเวณที่ต้องระวัง


1. รู้สึกชาปลายเท้าและปลายมือเข้าหาลำตัว
สาเหตุของอาการมักเกิดจากปลายประสาทอักเสบหรือปลายประสาทเสื่อม ซึ่งเกิดจากขาดสารอาหารที่สำคัญบางชนิด ได้แก่ วิตามินบี 1 วิตามินบี 6 หรือ วิตามินบี 12
นอกจากนี้ ยังสามารถเกิดขึ้นเนื่องจากการเป็นโรคบางชนิดได้ด้วย เช่น โรคไต โรคมะเร็ง เป็นต้น


2. รู้สึกชามือ แต่ไม่รู้สึกชาเท้า
การชาเฉพาะที่มืออย่างเดียวโดยไม่ชาเท้า จะสามารถแบ่งบริเวณของมือที่ชาเป็นส่วนๆได้ดังนี้ ซึ่งอาการชาแต่ละส่วนก็แสดงความผิดปกติที่แตกต่างกันออกไป
2.1 ชาปลายนิ้วมือเกือบทุกนิ้ว แต่นิ้วก้อยไม่ชาหรือชาน้อยที่สุด
สาเหตุของอาการชานี้เกิดขึ้นจากเอ็นกดทับเส้นประสาทตรงข้อมือ ซึ่งนับว่ายังไม่อันตรายมากนัก วิธีแก้ไขยังสามารถทำได้ เพียงแค่ต้องลดงานที่ใช้มือข้างนั้นๆลง เลี่ยงท่าทางที่ทำแล้วทำให้มือชา เปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ หรือถ้าเป็นมากอาจจะต้องฉีดยาที่ข้อมือเพื่อบรรเทาอาการ
2.2 ชาที่บริเวณนิ้วก้อย นิ้วนาง และขอบมือด้านเดียวกัน แต่ไม่เลยเกินข้อมือ
อาการชาประเภทนี้มักเกิดจากการที่เส้นประสาทถูกกดทับตรงข้อศอก วิธีการแก้ไขให้เลี่ยงท่าทางที่ทำให้ชาเช่นเดียวกับข้อข้างต้น อย่างไรก็ตาม ถ้ารู้สึกชาเลยข้อมือขึ้นมาจนถึงข้อศอก มักจะมีสาเหตุมาจากเส้นประสาทถูกกดทับบริเวณกระดูกไหปลาร้า หากเป็นเช่นนี้ควรปรึกษาแพทย์ทันที
2.3 ชาหลังมือไม่เกินข้อมือ โดยเฉพาะบริเวณง่ามระหว่างนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้
อาการชาประเภทนี้มักเกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับที่ต้นแขน หากคุณรู้สึกเช่นนี้ควรเลี่ยงการนั่งเอาแขนพาดพนักเก้าอี้ ส่วนถ้าใครรู้สึกชาเลยขึ้นมาถึงแขน อาจเป็นเพราะเส้นประสาทบาดเจ็บบริเวณรักแร้
2.4 ชาเป็นแถบตั้งแต่แขนลงไปถึงนิ้วมือ
อาการชาประเภทนี้ มักเกิดขึ้นจากกระดูกต้นคอเสื่อม และมีผลต่อการกดทับเส้นประสาท หากรู้สึกเช่นนี้ควรรีบปรึกษาแพทย์จะดีกว่า

3. รู้สึกชาเท้า แต่ไม่รู้สึกชาที่มือ
3.1 ชาหลังเท้าขึ้นมาถึงหน้าแข้ง
อาการชาประเภทนี้เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับบริเวณใต้เข่าด้านนอก อาจเป็นเพราะคุณนั่งไขว่ห้าง นั่งขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบนานเกินไป ก็หลีกเลี่ยงท่านั่งเหล่านี้ และห้ามใช้อะไรรองใต้ข้อพับเข่าเวลานอน
3.2 ชาฝ่าเท้า
อาการชาประเภทนี้เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับที่ตาตุ่มด้านในหรือในอุ้งเท้า ถ้าต้องการจะหายโดยเร็วควรเลิกท่าทางที่จะทำให้ขาชา และลดการยืนหรือเดินนานๆ หากเป็นไปได้ให้นั่งพักบ้าง
3.3 ชาทั้งเท้า
รู้สึกชาที่ข้างใดข้างหนึ่ง และมักชาขึ้นมาถึงใต้เข่า อาการประเภทนี้เกิดจากเส้นประสาทได้รับความบาดเจ็บบริเวณสะโพก
3.4 ชาด้านนอกของต้นขา
อาการชาประเภทนี้มีสาเหตุมาจากเส้นประสาทจะถูกกดทับที่ขาหนีบ ถ้าอยากหายควรหลีกเลี่ยงการงอพับบริเวณสะโพก
3.5 ชาเป็นแถบจากสะโพกลงไปถึงเท้า
อาการชาประเภทนี้เกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท นับว่าเป็นอาการที่รุนแรงและหากรักษาผิดวิธีอาจจะทำให้พิการได้เลย ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์โดยด่วน
อาการชาตามบริเวณต่างๆของร่างกายไม่ใช่เรื่องที่จะมองข้ามกันไปได้ อีกทั้งรูปแบบการชาก็หลากหลาย บางคนอาจจะแยกไม่ออก หรือรักษาผิดวิธี จนทำให้อาการทรุดลงได้
ดังนั้น หากยังไม่แน่ใจในอาการที่เป็นอยู่ว่าเกิดขึ้นจากอะไรกันแน่ ก็อย่าฝืนตัวเอง แต่ลองไปปรึกษาคุณหมอ เพื่อผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นจะดีกว่า
                                                                                                                             ที่มา: เว็บไซต์ สุขภาพน่ารู้