ภาษา

บทความเพื่อสุขภาพ

ค้นหาบทความ

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน

 

สาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน

สาเหตุของการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตับพบว่าอาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่เข้าไปเกี่ยวข้องเนื่องจากการบริโภคของคนไทยเปลี่ยนไป โดยหันมานิยมอาหารจานด่วน ที่มีไขมันและคาร์โบไฮเดตมากขึ้น  ขณะเดียวกันการเป็นสังคมเมืองทำให้การออกกำลังกายน้อยลงและมีความเครียดมากกว่าอดีต“การเสียชีวิตของคนไทย จะมาจากสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ มาอันดับแรก รองลงมาเป็นโรคมะเร็ง  และโรคหัวใจ   ซึ่งโรคหัวใจที่คนไทยเป็นมากที่สุดในปัจจุบันก็คือ โรคหัวใจจากเส้นเลือดตีบตัน เนื่องจากคนไทยสมัยนี้ชอบทานอาหารฝรั่งพวกไขมันสูง  อีกทั้ง ยังเป็นโรคกรรมพันธุ์อีกด้วย”
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันนั้น เกิดจากความเสื่อมของเส้นเลือด  ผลจากการมีไขมันและการสะสมของหินปูนไปเกาะเส้นเลือดแดง จนเกิดการอุดตันหรือเส้นเลือดแตกเกิดขึ้น  จึงส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง บางรายอาจทำให้เสียชีวิตแบบเฉียบพลันได้ ส่วนเหตุที่ทำให้หลอดเลือดหัวใจเสื่อม เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น การสูบบุหรี่  ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน เป็นต้น
 

อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน

 ในระยะแรกมักไม่แสดงอาการผิดปกติ จนกระทั่งเส้นเลือดแดงตีบมากขึ้น จนกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงจะเกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอก เรียกว่า Angina Pectoris โดยจะมีอาการรู้สึกเหมือนถูกบีบรัดแน่นอึดอัดที่บริเวณหน้าอกตรงกลาง อาจร้าวไปไหล่ซ้ายและแขนซ้าย บางรายอาจร้าวขึ้นไปที่คอ หรือกรามด้านซ้าย อาการจะมีมากขึ้นเวลาออกแรงหรือทำงานหนักและนั่งพักก็จะดีขึ้น โดยอาการดังกล่าวอาจเป็นๆ หายๆ และความรุนแรงจะมากขึ้น หากมีภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบมากขึ้น และบางกรณีที่เกิดมีการอุดตันของเส้นเลือดหัวใจอย่างเฉียบพลัน จะแสดงอาการเจ็บหน้าอกฉับพลันทันที มีอาการกระสับกระส่าย เหงื่อออก ตัวเย็น บางรายอาจมีการเหนื่อยหอบจากภาวะหัวใจวายร่วมด้วย ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาอย่างเร่งด่วน
 

การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน  

 ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เป็นภาวะร้ายแรงที่อาจทำให้เสียชีวิตโดยเฉียบพลัน ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วผู้ป่วยจำเป็นต้องถึงมือแพทย์ให้เร็วที่สุด และอัตราการเสียชีวิตด้วยภาวะนี้ยังสูงเป็นอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ การตีบตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเพราะมีไขมัน และตะกรันสะสมอยู่ภายในหากตีบตันไม่มากนัก แพทย์อาจใช้การสวนหัวใจ ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานในการรักษา   แต่ในกรณีที่จุดตีบตันนั้นเข้าถึงได้ยากหรือมีภาวะตีบสนิท โดยทั่วไปจะต้องเข้ารับการผ่าตัด เพื่อเบี่ยงเส้นเลือดหัวใจ ซึ่งการผ่าตัดมีความเสี่ยงมากกว่าใช้เวลาพักรักษาตัวนาน และยังทิ้งรอยแผลเป็นไว้อีกด้วย แต่ในปัจจุบันด้วยความสามารถของแพทย์และเทคโนโลยีการรักษาที่ก้าวหน้า การผ่าตัดอาจจะไม่ใช่หนทางเดียวในการรักษาภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบสนิทอีกต่อไป ทีมแพทย์ผู้มีประสบการณ์ จะตรวจหาตำแหน่งที่อุดตันตีบสนิท ด้วยหัวอัลตราซาวด์ภายในหลอดเลือด ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ประเมินสภาพและความรุนแรงของการอุดตันเพื่อนำไปใช้วางแผนการรักษาได้อย่างแม่นยำ และแม้ในกรณีอุดตันตีบสนิทเข้าถึงได้ยาก แพทย์ที่พร้อมด้วยเครื่องมือจะสามารถใช้ “หัวกรอกากเพชร” ทำการรักษาได้ ซึ่งอุปกรณ์นี้จำเป็นต้องใช้แพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อทำการรักษาหัวกรอกากเพชรจะหมุนด้วยความเร็วสูงกรอตะกรันที่อุดตันจนเป็นผงละเอียด จากนั้นจึงใส่โครงค้ำยันหลอดเลือด เพื่อคืนการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจให้กลับมาดีดังเดิม  ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการรักษา และความเชี่ยวชาญของแพทย์ทำให้ผู้ป่วยที่มีภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบสนิท หรือเข้าถึงได้ยากมีทางเลือกในการรักษาที่ดีกว่าได้ การรักษานี้ใช้เวลาพักฟื้นระยะสั้น ทำให้สามารถกลับบ้านไปใช้ชีวิตประจำวันเป็นปกติได้อย่างรวดเร็ว