บทความเพื่อสุขภาพ

ค้นหาบทความ

ภัยร้าย ไข้หวัดใหญ่ กับผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ
   
       ไข้หวัดใหญ่ เมื่อติดในผู้ที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (โรคถุงลมโป่งพองหลอดลมอักเสบเรื้อรัง) มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
    เนื่องจากผู้ป่วยโรคหอบหืดจะมีทางเดินหายใจที่บวมและไวต่อการกระตุ้นได้ง่ายกว่าคนปกติ เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ทำให้เกิดการอักเสบของทางเดินหายใจและปอด และยังกระตุ้นให้อาการหอบหืดที่เป็นอยู่กำเริบได้ ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค ประเทศสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) พบว่า ผู้ป่วยโรคหอบหืดที่แม้สามารถควบคุมอาการของโรคได้เป็นอย่างดี หากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้และมีโอกาสเป็ปอดอักเสบมากกว่าคนทั่วไป  ในฤดูการระบาดปี 2011-2012 สหรัฐอเมริกา พบว่า 19 % ของเด็กทั้งหมดที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่มีประวัติเป็นโรคหอบหืดมาก่อนดังนั้นหากผู้ป่วยกลุ่มนี้ มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัวอ่อนเพลียมาก ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
 
 
    ไข้หวัดใหญ่ติดต่อได้ง่าย โดยการับละอองฝอยที่มีเชื้อไวรัสไขหวัดใหญ่จากการไอหรือจามของผู้ป่วย หรือจากการหยิบจับสิ่งของที่มีเชื้อไวรัสติดอยู่ แล้วมาสัมผัสกับ ปาก จมูก หรือตาของตัวเอง โดยอาการของไข้หวัดใหญ่เริ่มต้นเร็วมากภายใน 1-2 วันหลังจากติดเชื้อ ไข้มักสูงมากคลื่นไส้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลียมาก อาการมักรุนแรง และเป็นนานกว่าไข้หวัดธรรมดา 
     ไข้หวัดใหญ่พบได้ทุกช่วงอายุ แต่ภาวะแทรกซ้อนและการเสียชีวิตมักจะพบในผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง หลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด หรือผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิต สูงกว่าคนทั่วไปหลายเท่า
    วิธีการป้องกันการติดเชื้อและแพร่เชื้อไข้หวัดใหญ่ได้แก่ ไม่อยู่ใกล้ชิดหรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วย ล้างมือบ่อยๆ ไม่ใช้มือขยี้ตา แคจมูก ปิกปากเวลาไอหรือจามรวมทั้งการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี สามารถลดอัตราการติดเชื้อ ลดอัตราการนอนโรงพยาบาลลดโรคแทรกซ้อน และการเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ผู้ที่ดูแลผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ รวมถึงสมาชิกในครอบครัวทุกคนที่อาศัยอยู่ร่วมกับผู้ป่วยก็ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เพื่อลดโอกาสแพร่เชื้อไปยังผู้ป่วย
 
 
กลุ่มเสี่ยงที่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ มีดังนี้
 
1. หญิงตั้งครรภ์
2. โรคอ้วน (บุคคลที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือ ดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กิโลกรัม/เมตร)
3. ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด เอดส์ มะเร็ง โรคไต โรคตับ โรคเบาหวาน โรคธาลัสซีเมีย โรคลมชัก
4. ผู้พิการที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
5. เด็กอายุเต็มกว่า 5 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และผู้สูงอายุมากว่า 65 ปี
6. เด็กอายุต่ำกว่า 19 ปีที่ได้รับยาแอสไพรินเป็นเวลานาน 
7. ผู้ที่ต้องดูแลกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
8. แพทย์ พยาบาล บุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานเสี่ยงต่อการสัมผัสโรคจากผู้ป่วย
 
     สำหรับประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยได้แนะนำให้ผู้ใหญ่ทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำทุกปีและสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยได้แนะนำให้เด็กอายุ 6 เดือนถึง18 ปีรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปีเช่นเดียวกัน
     ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาท ทุกคนควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะถ้าท่านอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเพื่อลดอัตราการติดเชื้อ ลดอัตราการนอนโรงพยาบาลลดภาวะแทรกซ้อน โดยฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้ง
    เนื่องจากภูมิคุ้มกันโรคจากการฉีดวัคซีนจะลดต่ำลงตามธรรมชาติหลังจาก 6-12 เดือน และเชื้อไข้หวัดใหญ่ยังมีการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละปี ทำให้ภูมิคุ้มกันเดิมที่มีอยู่ไม่สามารถป้องกันโรคได้