บทความเพื่อสุขภาพ

ค้นหาบทความ

โรคหอบหืดคืออะไร?
 
 
         โรคหอบหืด คือ โรคที่มีอาการอักเสบเรื้อรังของหลอดลมทำให้เยื่อบุหลอดลมมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้ามากกว่าคนปกติ เด็กจะมีอาการไอ แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี๊ดหรือเหนื่อยหอบ เกิดขึ้น ทันทีเมื่อได้รับสิ่งกระตุ้น อาการดังกล่าวนี้อาจหายได้เอง หรือภายหลังจากได้รับยาขยายหลอดลม
 
กลไกการเกิดโรคหอบหืด
 
กลไกการเกิดโรคหอบหืดมี 3 ประการ คือ
1. กล้ามเนื้อรอบๆ หลอดลมหดตัว ทำให้หายใจออกลำบาก และมีลมค้างในปอด
2. เนื้อเยื่อที่อยู่รอบๆ หลอดลม บวม หรืออักเสบ 
3. ภายในหลอดลมจะมีการขับมูกมากขึ้น ทำให้อาการไอมาก หายใจเข้าออกไม่สะดวก มีอาการแน่น ดังนั้น ในขณะที่มีอาการหอบ จะมีอาการไอร่วมกับการมีเสมหะอึดอัด แน่นหน้าอก
 
สาเหตุของโรคหอบหืด
 
    การเกิดอาการของโรคหอบหืดนั้น เกิดจากร่างกายได้รับสิ่งกระตุ้นต่างๆ ซึ่งจะมีผลให้เนื้อเยื่อบุหลอดลม มีการเปลี่ยนแปลง สิ่งกระตุ้นต่างๆ มีดังนี้
1. สารก่อภูมิแพ้ เป็สารที่อาจเข้าสู่ร่างกายโดยทางการหายใจ หรือการรับประทานอาหาร
- การหายใจ ได้แก่ ไรฝุ่นในนุ่น และฝุ่นละอองเกสรดอกไม้ ฝุ่นชอล์ก ขนสัตว์ รังแค และสิ่งขับถ่ายของสัตว์เลี้ยง เช่น แมว สุนัข เศษแมลงในบ้าน เช่น เศษหรือขี้แมลงสาบ
-การรับประทานอาหาร ได้แก่ อาหารทะเล ไข่ นม สารแต่งสี ผงชูรส หรือยาบางชนิด เช่น แอสไพริน
2. สิ่งระคายเคือง เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดอาการโดยตรงเช่น กลิ่นสารเคมี ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ควันบุหรี่ ควันไฟ กลิ่นน้ำมันรถ และกลิ่นฉุนๆ เป็นต้น
3. มีการติดเชื้อในระบบหายใจ เช่น ไข้หวัด หลอดลมอักเสบ
4. มีการเปลี่ยนแปลงของอากาศ เช่น ร้อนจัด หนาวจัด ใกล้ฝนตก
5. การออกกำลังกายมากเกินไป
6. การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เช่น โกรธ เสียใจ กังวลตื่นเต้น ตกใจ เป็นต้น
 
อาการของโรคหอบหืด
 
1. ไอ ในระยะแรกไอไม่มีเสมหะ ระยะต่อมาไอมีเสมหะ
2. แน่นหน้าอก
3. หายใจไม่สะดวก มีเสียงวี๊ดขณะหายใจ
4. หายใจลำบาก หอบเหนื่อย
5. มีอาการเขียวได้ ถ้าเกิดภาวะขาดออกซิเจน
การรักษาโรคหอบหืด
จุดประสงค์ในการรักษาโรคหอบหืด เพื่อ
1. ลดอาการของโรคหอบหืดที่คุกคามต่อชีวิต
2. ลดอัตราการไปรักษาอย่างฉุกเฉินที่โรงพยาบาลเนื่องจากอาการหอบหืดกำเริบ
3. สามารถออกกำลังกาย เล่นกีฬา และดำรงชีวิตได้ตามปรกติ
4. ลดการใช้ยาขยายหลอดลม และไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยา 
 
 
หลักกการรักษาโรคหอบหืด
 
1. การหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ และสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการหอบหืด
2. การรักษาด้วยยา
3. การรักษาโดยการฉีดสารที่เด็กแพ้เข้าใต้ผิวหนัง
4. การรักษาโดยใช้กายภาพบำบัด
5. การรักษาด้านจิตใจ
        การรักษาโรคหอบหืดด้วยยา ปัจจุบันการใช้ยารักษาโรคหอบหืดมักจะได้ผลดีและสามารถควบคุมอาการโรคหอบหืดได้ แต่ไม่หายขาด
 
ยาที่ใช้ในการรักษาโรคหอบหืดที่ควรรู้จักมี 2 กลุ่ม คือ
 
1. กลุ่มยาขยายหลอดลม จะช่อยคลายกล้ามเนื้อที่อยู่รอบๆหลอดลม มักจะใช้ในช่วงที่มีอาการหอบ
2. กลุ่มยาป้องกันอาการหอบหืด จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการหอบหืด จึงต้องใช้เป็นประจำทุกวัน แม้ไม่มีอาการ ซึ่งจะใช้เฉพาะในรายที่มีอาการหอบบ่อยๆ ซึ่งการใช้ยาป้องกันนี้ควรต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำ และการควบคุมดูแลของแพทย์