บทความเพื่อสุขภาพ

ค้นหาบทความ

วงจรชีวิตของเชื้อมาลาเรีย

วงจรชีวิตของเชื้อมาลาเรีย

วงจรชีวิตของเชื้อมาลาเรีย

เชื้อ มาลาเรียในคนทั้ง 4 ชนิดมีวงจรชีวิตของการเจริญที่คล้ายคลึงกัน คือมีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศในยุงก้นปล่องตัวเมีย และมีการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ ในเซลล์ตับและเม็ดเลือดแดงของคน จะมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยที่ช่วงระยะที่เชื้อใช้ในการเจริญเติบโตแต่ ละระยะ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนดังนี้
1. เชื้อมาลาเรียระยะผสมพันธุ์ เป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นภายในยุงก้นปล่อง โดยเริ่มจากที่ยุงก้นปล่องเพศเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่เป็นไข้มาลาเรีย เชื้อมาลาเรียที่ประกอบด้วยระยะมีเพศและไม่มีเพศก็จะเข้าไปในกระเพาะอาหาร ของยุง เชื้อระยะไม่มีเพศถูกย่อยสลายไปพร้อมกับเม็ดเลือดแดงซึ่งเป็นอาหารของยุง ส่วนเชื้อมาลาเรียระยะมีเพศ ทั้งเพศผู้และเพศเมีย จะไม่ถูกย่อย แต่เชื้อเพศผู้จะเจริญเติบโตและสามารถเคลื่อนที่ได้ เมื่อพบกับเซลล์สืบพันธุ์ตัวเมียจะปฏิสนธิ ผลที่ได้คือตัวอ่อน(zygote) กระบวนการดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงและเกิดภายในกระเพาะอาหารของยุง หลังจากนั้นตัวอ่อนจะเปลี่ยนแปลงรูปร่างให้เรียวแหลมขึ้น เพื่อพร้อมจะเคลื่อนที่แทรกผ่านผนังกระเพาะของยุง มาอยู่เยื่อหุ้มผนังกระเพาะระหว่างผนังชั้นนอกกับผนังชั้นใน
2. การแบ่งตัวแบบไม่มีเพศ เป็นขั้นตอนต่อจากขั้นที่หนึ่ง ภายในตัวอ่อนของเชื้อมาลาเรียจะแบ่งตัวเป็นรูปร่างคล้ายเข็มปลายแหลม เรียกว่าสปอโรซอยต์ (sporozoites) มีนิวเคลียสอยู่ตรงกลางมีการเจริญเติบโตเพิ่มขนาดและมีจำนวนมากขึ้น จากนั้นผนังเชื้อมาลาเรียแตกออก สปอโรซอยต์เคลื่อนสู่ช่องว่างภายในลำตัวของยุง และเข้าสู่ต่อมน้ำลายของยุง ซึ่งในช่วงนี้อาจมีสปอโรซอยต์บางตัวเคลื่อนผิดทิศทางคือไปสู่เนื้อเยื่อบาง ส่วนของยุง ซึ่งจะถูกทำลายด้วยกระบวนการย่อยสลายในตัวยุงเอง เชื้อระยะนี้อยู่ในต่อมน้ำลายยุงและมีอายุได้นานถึง 59 วัน แต่ความสามารถในการติดเชื้อจะลดลง ระยะเวลาที่ใช้ในการเจริญเติบโตขั้นที่ 1 และ 2 ภายในตัวยุงที่เป็นพาหะแตกต่างกันออกไป ขึ้นกับชนิดของยุง อุณหภูมิ และสภาพภูมิอากาศ โดยเฉลี่ยจะอยู่ประมาณ 8-35 วัน
3. ระยะในตับ เป็นระยะที่เชื้อมาลาเรียเจริญในคน เมื่อยุงที่มีเชื้อมาลาเรียในระยะสปอโรซอยต์ มากัดคนก็จะปล่อยเชื้อระยะดังกล่าวเข้าสู่กระแสโลหิต และสปอโรซอยต์เข้าสู่เซลล์ตับ (โดยกระบวนการที่ยังไม่แน่ชัด) มีการเพิ่มขนาดโดยการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ มีขนาดโตขึ้นจำนวนหลายพันตัว ทั้งนี้ สปอโรซอยต์ของเชื้อมาลาเรียชนิดไวแวกซ์ (P. vivax) และชนิดโอวาเล่ (P. ovale) บางส่วนเมื่อเข้าสู่เซลล์ตับแล้วจะมีการหยุดพักการเจริญชั่วขณะ ระยะเวลาที่หยุดพักนี้แตกต่างกันไปตามสายพันธุ์และชนิดของมาลาเรีย เชื้อระยะหยุดพักนี้เป็นสาเหตุของการเกิดอาการไข้กลับ (relapse) ในผู้ป่วยมาลาเรีย ภายหลังได้ และเรียกเชื้อมาลาเรียระยะนี้ว่า ฮิบโนซอยต์ (hypnozoite)
4. เชื้อมาลาเรียระยะอยู่ในเม็ดเลือดแดง เป็นระยะที่เชื้อมาลาเรียมีการเจริญแบ่งตัวเพิ่มจำนวนในเม็ดเลือดแดงของคน โดยเริ่มจากการแตกออกจากเซลล์ตับ มาเป็นอิสระภายนอกชั่วระยะสั้นๆ แล้วเข้าสู่เม็ดเลือดแดง โดยการเคลื่อนที่เข้าไปเกาะติดเม็ดเลือดแดง แล้วเคลื่อนตัวเข้าสู่เม็ดเลือดแดง หลังจากที่เข้าสู่เม็ดเลือดแดงแล้ว เชื้อมาลาเรียจะเจริญแบ่งตัวเพิ่มจำนวน และสามารถตรวจหาเชื้อมาลาเรียในโลหิตของผู้ป่วยได้ในระยะนี้

ขอบคุณแหล่งข้อมูล : สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข