ภาษา

ศูนย์บริการทางการแพทย์

ศูนย์โรคระบบทางเดินปัสสาวะ

ศูนย์โรคระบบทางเดินปัสสาวะ

ข้อมูลทั่วไป

■ ขอบเขตการให้บริการ
ศูนย์โรคระบบทางเดินปัสสาวะเป็นศูนย์ตรวจวินิจฉัยและรักษาเฉพาะโรคในระบบทางเดินปัสสาวะ ทั้งเพศหญิงและเพศชายรวมถึงการตรวจพิเศษ ทางระบบประสาทกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งอวัยวะเพศชาย โดยทีมศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ และทีมสหสาขาวิชาชีพ
คลินิกทางเดินปัสสาวะทั่วไป
คลินิกปัสสาวะผิดปกติ และกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
คลินิกนิ่วทางเดินปัสสาวะ
คลินิกมะเร็งทางเดินปัสสาวะ
คลินิกสุขภาพเพศชาย

- คลินิกทางเดินปัสสาวะทั่วไป ให้การบริการตรวจวินิจฉัย รักษา และให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินปัสสาวะอักเสบ และโรคทั่วไปทางระบบปัสสาวะให้การบริการตรวจวินิจฉัย รักษา และให้คำแนะนำแก่ผู้ที่มีอาการปัสสาวะผิดปกติ และกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
1.การซักประวัติ และตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยแพทย์เฉพาะทางระบบทางเดินปัสสาวะ(Physical Examination by Urologist)
2.การตรวจปัสสาวะเพื่อหาว่ามีเลือด หรือการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urine Analysis)
3.การเก็บปัสสาวะตรวจเพาะเชื้อทางห้องปฏิบัติการ (Urine Culture)
4.การส่องกล้องดูภายในกระเพาะปัสสาวะและต่อมลูกหมาก (Cystoscopy)
5.การเก็บหนองจากท่อปัสสาวะ โดยการตรวจภายในกระเพาะปัสสาวะด้วยวิธีส่องกล้อง (Cystoscope for Pus Culture) จะใช้ในกรณีทางเดินปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง
6.การรักษา โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบรักษาด้วยยา ทั้งแบบรับประทานและแบบฉีด

- คลินิกปัสสาวะผิดปกติ และกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ให้การบริการตรวจวินิจฉัย รักษา และให้คำแนะนำแก่ผู้ที่มีอาการปัสสาวะผิดปกติ และกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
การตรวจวินิจฉัยภาวะปัสสาวะผิดปกติ และกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
1.การซักประวัติ และตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยแพทย์เฉพาะทางระบบทางเดินปัสสาวะ
(Physical Examination by Urologist)
2.การตรวจปัสสาวะเพื่อหาว่ามีเลือดหรือการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urine Analysis)
3.การตรวจดูปริมาณปัสสาวะที่คั่งค้างในกระเพาะปัสสาวะ (Post-Void Residual Urine) เพื่อดูว่ามีความผิดปกติที่ระยะใดของการปัสสาวะ
4.การตรวจระบบประสาททางเดินปัสสาวะ (Urodynamic) จะบอกถึงลักษณะการทำงานของกระเพาะปัสสาวะได้ดี สามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์ในการวางแผนการรักษา และให้คำแนะนำได้อย่างถูกต้องตรงกับปัญหาที่ผู้ป่วยเป็นอยู่
การรักษาภาวะปัสสาวะผิดปกติ และกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
การรักษาขึ้นกับสาเหตุของโรคว่า เกิดความบกพร่องที่อวัยวะในการควบคุมการปัสสาวะส่วนใด โดยทั่วไปแนวทางในการรักษามีอยู่ 3 วิธี
1.พฤติกรรมบำบัด โดยการแนะนำให้ออกกำลังกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Pelvic Floor Exercise)
2.การรักษาด้วยการให้ยา
3.การผ่าตัดเพื่อเพิ่มแรงหูรูด (Urethral Sling) กรณีกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

- คลินิกนิ่วทางเดินปัสสาวะ ให้บริการตรวจวินิจฉัย รักษานิ่วทางเดินปัสสาวะ และให้คำแนะนำแก่ผู้ที่มีอาการของโรคนิ่วทางเดินปัสสาวะ
การตรวจวินิจฉัยนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
1.การซักประวัติ และตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยแพทย์เฉพาะทางระบบทางเดินปัสสาวะ
(Physical Examination by Urologist)
2.การตรวจปัสสาวะเพื่อหาว่ามีเลือด หรือการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urine Analysis)
3.การตรวจอัลตราซาวด์ระบบทางเดินปัสสาวะ เพื่อดูความผิดปกติ (Ultrasound KUB System)
4.การตรวจโดยการถ่ายภาพรังสีธรรมดาเพื่อดูรูปร่าง ลักษณะ ตำแหน่งของผลึกหรือก้อนนิ่ว ซึ่งอยู่บริเวณไต ท่อไต หรือกระเพาะปัสสาวะ (Plan KUB System)
5.การตรวจ X-ray ฉีดสารเข้าหลอดเลือดดำและเมื่อสีขับเข้ากระเพาะปัสสาวะแพทย์จะสามารถเห็นตำแหน่งและความรุนแรงของการอุดกลั้นปัสสาวะ (Intravenous Pyelography - IVP)
6.การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ดูอวัยวะและความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ (CT KUB System)

การรักษานิ่วระบบทางเดินปัสสาวะ
1.การรักษาโดยการรับประทานยาละลายนิ่ว เหมาะสำหรับนิ่วชนิดยูริคที่สามารถละลายได้โดยให้ทานยา
2.การส่องกล้องผ่านท่อท่อไตขึ้นไปถึงก้อนนิ่ว เข้าไปคล้อง หรือกรอนิ่วในท่อไตออกมา (Ureteroscopy with Stone Removal) วิธีนี้ไม่มีรอยแผล เนื่องจากเป็นการส่องกล้องเข้าทางรูท่อปัสสาวะ หรือท่อไตที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
3.การสลายนิ่วด้วยคลื่นเสียงความถีสูง (ESWL) ทำให้เม็ดนิ่วที่มีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร แตกเป็นเศษเล็กๆ ไหลหลุดออกมาเอง โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด
4.การเจาะผ่านผิวหนังส่องกล้องกรอนิ่วในไต (PCNL) เป็นวิธีการรักษานิ่วในไต ที่พัฒนามาเพื่อเลี่ยงการผ่าตัดโดยใช้วิธีเจาะรูเล็กๆ ขนาดนิ้วชี้ทะลุจากผิวหนังเข้าไปในกรวยไต และใช้กล้องส่องตามเข้าไป จนพบก้อนนิ่ว จากนั้นจะใช้เครื่องมือเข้าไปกรอนิ่ว ให้แตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ และดูดหรือคีบนิ่วออกมา
5.การขบนิ่ว (Cystolithotripsy) เป็นการใช้เครื่องมือเข้าไปทางท่อปัสสาวะ ขบนิ่วให้แตกแล้วล้างออกโดยไม่มีแผล กรณีเป็นนิ่วที่กระเพาะปัสสาวะ

- คลินิกมะเร็งทางเดินปัสสาวะให้บริการตรวจวินิจฉัย และรักษามะเร็งทางเดินปัสสาวะ
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งทางเดินปัสสาวะ
1.การซักประวัติ และตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยแพทย์เฉพาะทางระบบทางเดินปัสสาวะ
(Physical Examination by Urologist)
2.การตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก (Digital Rectal Exam-DRE)
3.การตรวจเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA)
4.การตรวจอัลตราซาวด์ทางเดินปัสสาวะ (Ultrasound KUB System)
5.การตรวจ X-ray ฉีดสารเข้าหลอดเลือดดำและเมื่อสีขับเข้าทางเดินปัสสาวะ แพทย์จะสามารถเห็นตำแหน่งและความรุนแรงของการอุดกลั้นปัสสาวะ (Intravenous Pyelography-IVP)
6.การส่องกล้องดูภายในกระเพาะปัสสาวะ และต่อมลูกหมาก (Cystoscopy)
7.การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ดูอวัยวะและความผิดปกติในช่องท้อง ทั้งบนและล่าง (CT Whole Abdomen)
8.การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ดูอวัยวะและความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ (CT KUB System)

การรักษามะเร็งทางเดินปัสสาวะ
1.การผ่าตัดต่อมลูกหมากออกทั้งหมด (Radical Prostatectomy) เป็นการผ่าตัดแบบเปิด เพื่อเอาต่อมลูกหมากที่เป็นมะเร็งรวมทั้งต่อมน้ำเหลืองออกทั้งหมด
2.การผ่าตัดโดยใช้กล้อง (Laparoscopic radical Prostatectomy) เป็นการผ่าตัดโดยใช้กล้อง เพื่อเอาต่อมลูกหมากที่เป็นมะเร็งรวมทั้งต่อมน้ำเหลืองออกทั้งหมด
3.การผ่าตัดเนื้องอกที่ต่อมลูกหมาก (TUR-P)
4.การผ่าตัดเนื้องอกที่กระเพาะปัสสาวะ (Cystectomy)
5.การรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) คือการใช้ยาต้านมะเร็ง ซี่งสามารถผ่านไปถึงทุกส่วนของร่างกาย เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง โดยแผนกเคมีบำบัด ภายใต้การดูแลของทีมสหสาขาวิชาชีพด้านการรักษาโรคมะเร็ง

- คลินิกสุขภาพชาย

การตรวจวินิจฉัยการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
1.การซักประวัติ และตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยแพทย์เฉพาะทางระบบทางเดินปัสสาวะ (Physical Examination by Urologist)
2.การตรวจระดับฮอร์โมนเพศชาย (Testosterone Test)
3.การตรวจเลือดเพื่อตรวจสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA)
การรักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ -รักษาโดยการรับประทานยา

การตรวจวินิจฉัยโรคต่อมลูกหมากโต
1.การซักประวัติ และตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยแพทย์เฉพาะทางระบบทางเดินปัสสาวะ (Physical Examination by Urologist) โดยการตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก (Digital Rectal Exam-DRE)
2.การตรวจปัสสาวะเพื่อหาว่ามีเลือด หรือการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urine Analysis)
3.การตรวจเลือดเพื่อตรวจสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA)

การรักษาโรคต่อมลูกหมาก
1.รักษาโดยการรับประทานยา
2.ตัดต่อมลูกหมากโดยการส่องกล้องผ่านอวัยวะเพศ เป็นการตัดชิ้นเนื้อเพื่อให้ปัสสาวะไหลคล่อง (Transurethral Resection of the Prostate – TURP)
3.การใส่ตัวถ่างขยายท่อปัสสาวะบริเวณต่อมลูกหมาก (Prostatic stent) ใช้ในกรณีผู้ป่วยไม่สามารถผ่าตัดได้
4.การผ่าตัดต่อมลูกหมากโดยใช้เลเซอร์ (Greenlight Laser PVP)

การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
1.การซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยแพทย์เฉพาะทางระบบทางเดินปัสสาวะ (Physical Examination by Urologist) โดยการตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก (Digital Rectal Exam – DRE)
2.การตรวจปัสสาวะเพื่อหาว่ามีเลือดหรือการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urine Analysis)
3.การตรวจเลือดเพื่อตรวจสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA)
4.การตรวจอัลตราซาวด์ต่อมลูกหมากทางทวารหนัก (Transrectal Ultrasonography) สามารถเห็นต่อมลูกหมากและกระเพาะปัสสาวะ
5.การส่องกล้องดูภายในกระเพาะปัสสาวะและต่อมลูกหมาก (Cystoscopy)

การรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
1.การผ่าตัดต่อมลูกหมากออกทั้งหมด (Radical Prostatectomy) เป็นการผ่าตัดแบบเปิดเพื่อเอาต่อมลูกหมากที่เป็นมะเร็งรวมทั้งต่อมน้ำเหลืองออกทั้งหมด
2.การผ่าตัดโดยใช้กล้อง (Laparoscopic radical Prostatectomy) เป็นการผ่าตัดโดยใช้กล้อง เพื่อเอาต่อมลูกหมากที่เป็นมะเร็งรวมทั้งต่อมน้ำเหลืองออกทั้งหมด
3.การตัดต่อมลูกหมากโดยการส่องกล้องผ่านอวัยวะเพศ เป็นการตัดชิ้นเนื้อเพื่อให้ปัสสาวะไหลคล่อง (Transurethral Resection of the Prostate – TURP)
4.การรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) คือการใช้ยาต้านมะเร็ง ซึ่งสามารถผ่านไปถึงทุกส่วนของร่างกายเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง โดยมีแผนกเคมีบำบัด ภายใต้การดูแลของทีมสหสาขาวิชาชีพด้านการรักษาโรคมะเร็ง
5.การรักษาด้วยการควบคุม Hormone เพศชาย

การตรวจวินิจฉัยภาวะวัยทองในเพศชาย
1.ซักประวัติ และตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยแพทย์เฉพาะทางระบบทางเดินปัสสาวะ (Physical Examination by Urologist)
2.การตรวจระดับฮอร์โมนเพศชาย (Testosterone Test)
การรักษาภาวะวัยทองในเพศชาย -รักษาโดยการใช้ฮอร์โมนเพศชายเสริม (Hormone Replacement Therapy)

ให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคทางระบบปัสสาวะชาย
การตรวจสุขภาพเพศชาย (Men’s Health Check Up) และการตรวจวินิจฉัย
1.การซักประวัติ และตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยแพทย์เฉพาะทางระบบทางเดินปัสสาวะ (Physical Examination by Urologist)
2.การตรวจปัสสาวะเพื่อหาว่ามีเลือดหรือการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urine Analysis)
3.การตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก (Digital Rectal Exam -DRE)
4.การตรวจระดับฮอร์โมนเพศชาย (Testosterone Test )
5.การตรวจเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA)
6.การส่องกล้องดูภายในกระเพาะปัสสาวะ และต่อมลูกหมาก (Cystoscopy)
7.การตรวจ X-ray ฉีดสีเข้าหลอดเลือดดำ และเมื่อสีขับเข้าทางเดินปัสสาวะ แพทย์จะสามารถเห็นตำแหน่งและความรุนแรงของการอุดกลั้นปัสสาวะ (Intravenous Pyelography - IVP)
8.การตรวจวัดความแรงของปัสสาวะ (Uroflowmetry)
9.การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ดูอวัยวะและความผิดปกติในช่องท้องทั้งบนและล่าง(CT Whole Abdomen)
10.การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ดูอวัยวะและความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ (CT KUB System)
11.การตรวจอัลตราซาวด์ทางเดินปัสสาวะ (Ultrasound KUB System)

การรักษาโรคทางระบบปัสสาวะชาย
1.การผ่าตัดต่อมลูกหมากออกทั้งหมด (Radical Prostatectomy) เป็นการผ่าตัดแบบเปิด เพื่อเอาต่อมลูกหมากที่เป็นมะเร็งรวมทั้งต่อมน้ำเหลืองออกทั้งหมด
2.การผ่าตัดโดยใช้กล้อง (Laparoscopic radical Prostatectomy) เป็นการผ่าตัดโดยใช้กล้อง เพื่อเอาต่อมลูกหมากที่เป็นมะเร็งรวมทั้งต่อมน้ำเหลืองออกทั้งหมด
3.การตัดต่อมลูกหมาก โดยการส่องกล้องผ่านอวัยวะเพศ เป็นการตัดชิ้นเนื้อเพื่อให้ปัสสาวะไหลคล่อง (Transurethral Resection of the Prostate-TURP)
4.การใส่ตัวถ่างขยายท่อปัสสาวะบริเวณต่อมลูกหมาก(Prostatic stent) ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถผ่าตัดได้
5.การรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) คือการใช้ยาต้านมะเร็ง ซึ่งสามารถผ่านไปถึงทุกส่วนของร่างกายเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง โดยมีแผนกเคมีบำบัด ภายใต้การดูแลของ ทีมสหสาขาวิชาชีพด้านการรักษาโรคมะเร็ง

■ บริการเฉพาะทาง
คลินิกทางเดินปัสสาวะทั่วไป General Urology Clinic
ทางเดินปัสสาวะอักเสบหากมีการอักเสบของทางเดินปัสสาวะ ที่เป็นนานหรือกลับเป็นซ้ำบ่อยๆ ทำให้เกิดทางเดินปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง (Chronic or Recurrent Urinary Tract infection) ซึ่งหากการติดเชื้อลุกลามไปที่ไต อาจนำไปสู่ภาวะไตวายได้
โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบหมายถึง เกิดการอักเสบของระบบขับปัสสาวะซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ท่อปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะจนถึงไต สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อ Bacteria พบบ่อยทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก พบว่าผู้หญิงจะเป็นมากกว่าผู้ชาย 8-10 เท่า
สาเหตุ ปัสสาวะปกติประกอบด้วยน้ำและของเสียไม่มีเชื้อโรค การติดเชื้อเกิดเมื่อมีเชื้อโรคโดยมากมาจากทางเดินอาหารจากอุจาระมาที่ท่อปัสสาวะ (Urethra) ทำให้เกิดท่อปัสสาวะอักเสบ (Urethritis) หากเชื้อนั้นลามเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) และหากไม่ได้รักษาเชื้อจะลุกลามไปท่อไต และไต เรียก กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis )
เชื้อที่เป็นสาเหตุสำคัญคือ E. coli เป็นเชื้อปนเปื้อนจากอุจจาระ นอกจากนั้นยังพบว่าเชื้อ Chlamydia และ Mycoplasma ก็สามารถทำให้เกิดท่อปัสสาวะอักเสบ เชื้อดังกล่าวาต้องรักษาทั้งคู่

ใครบ้างมีโอกาศเกิดโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ
ผู้ที่มีนิ่วทางเดินปัสสาวะ
• ผู้ที่มีต่อมลูกหมากโต
• ผู้ที่คาสายปัสสาวะ
• ผู้ป่วยที่ระบบประสาทควบคุมการปัสสาวะเสียเช่น โรคเบาหวาน ประสาทไขสันหลังอักเสบ
• ผู้หญิงมีโอกาสเกิดทางเดินปัสสาวะอักเสบได้ง่ายกว่าผู้ชาย เนื่องจากท่อปัสสาวะสั้นกว่าผู้ชายและตำแหน่งที่เปิดอยู่ใกล้กับทวารหนัก และช่องคลอดทำให้เชื้อมาที่ท่อปัสสาวะได้ง่าย

คลินิกนิ่วทางเดินปัสสาวะ Urological Stone Clinic
ระบบทางเดินปัสสาวะ ประกอบด้วย ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ นิ่วสามารถพบได้ทุกส่วนของระบบทางเดินปัสสาวะ และทุกกลุ่มอายุ
นิ่วส่งผลให้
• ปวดเอวเมื่อนิ่วอุดตันท่อไต
• มีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
• ถ้ามีการอุดตันนานจะทำให้เกิดการเสื่อมการทำงานของไต
ก้อนนิ่วเกิดจากขบวนการหลายอย่างที่ผิดปกติ ทำให้มีการขับสารบางอย่างออกมาทางปัสสาวะมากเกินไป เช่น แคลเซียม อ๊อกซะเลต กรดยูริค เป็นต้น สารต่างๆ เหล่านี้ถ้ามีการขับออกมาในปัสสาวะมากๆ จะรวมกันเป็นผนึกก้อนนิ่ว และตกค้างอยู่ตามเนื้อไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะได้
การเกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีปัจจัยส่งเสริมดังต่อไปนี้
1.พันธุกรรมผู้ที่พ่อแม่เป็นโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคนิ่วเช่นเดียวกันได้
2.เพศนิ่วในไตพบในชายมากกว่าหญิง 2:1 นิ่วในกระเพาะปัสสาวะพบในชายมากกว่าหญิง 7:1
3.อายุนิ่วในกระเพาะปัสสาวะพบมากในเด็กและผู้สูงอายุ นิ่วในไตและท่อไตมักพบในผู้ใหญ่
4.การอักเสบติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
5.ภาวะพร่องวิตามินเอ เกิดการหลุดลอกของเยื่อบุผิว ทำให้รวมตัวของผลึกต่างๆ ได้
6.ความเข้มข้นของน้ำปัสสาวะ เมื่อน้ำปัสสาวะมีความเข้มข้นสูง โอกาสที่สารละลายในน้ำปัสสาวะจะตกผลึก ก็มีมากขึ้น
7.มีการตีบแคบของระบบทางเดินปัสสาวะ ทำให้น้ำปัสสาวะคั่งค้าง การตีบแคบนี้อาจมีมาแต่กำเนิด หรือเกิดขึ้นภายหลัง
8.ความผิดปกติในการทำงานของต่อม พาราไทรอยด์ ซึ่งหลั่ง hormone ที่ควบคุมสาร calcium ออกมามากกว่าปกติ
9.ความเป็นกรด/ด่าง ของน้ำปัสสาวะ ปัสสาวะที่มีฤทธิ์เป็นกรดมากจะเกิดการตกผลึกของ กรดยูริค, ซีสตีน ส่วนปัสสาวะที่มีฤทธิ์เป็นด่างจะเกิดการตกตะกอนของผลึกสาร จำพวก Oxalate, Phosphateและ Carbonate
10.ยาบางอย่าง ทำให้เกิดนิ่วได้ ยาลดกรดที่กินอยู่เป็นเวลานานๆ ทำให้ปัสสาวะมีฤทธิ์เป็นด่าง จะเกิดนิ่วพวก Phasphate ได้ง่าย
11.บริโภคอาหาร ประเภทโปรตีน ไขมัน สัตว์ปีกและเครื่องในสัตว์ เป็นประจำ
12.การขาด วิตามิน เอ หรือได้รับวิตามินดี มากเกินไป ก็ทำให้เกิดนิ่วได้

คลินิกมะเร็งทางเดินปัสสาวะ Urological Cancer Clinic
มะเร็งทางเดินปัสสาวะ สามารถพบได้ทุกส่วนของระบบทางเดินปัสสาวะ ที่พบบ่อยได้แก่ มะเร็งของกระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมาก ไต อวัยวะเพศชาย ลูกอัณฑะ และท่อไต
สาเหตุที่แท้จริงของมะเร็งยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งดังนี้
1.ผู้ที่พบว่าเป็นมะเร็งของไต กระเพาะปัสสาวะ มักพบในคนอายุมาก 50-70 ปี มะเร็งขององคชาติ พบในคนวัยกลางคนและมะเร็งอัณฑะพบในวัยหนุ่มฉกรรจ์
2.มะเร็งของไตและกรวยไต เกิดร่วมกับการอักเสบเรื้อรังและนิ่วในไต จากการกินยาแก้ปวดประเภทฟินาซิตินมากเกินไป
3.มะเร็งของกระเพาะปัสสาวะเกิดบ่อยในคนที่สูบบุหรี่จัด คนที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรมสีย้อมผ้า คนที่มีการอักเสบเรื้อรัง หรือเป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
4.อาหารที่มีไขมันมาก หรือสาเหตุทางพันธุกรรม อาจมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งของต่อมลูกหมาก
5.ลูกอัณฑะที่ไม่ลงมาในถุงอัณฑะ มีอัตราเสี่ยงการเกิดมะเร็งสูง
6.การเสียดสีเรื้อรัง ทำให้เกิดแผลไม่หายแล้วกลายเป็นมะเร็ง เช่น มะเร็งของถุงอัณฑะ

คลินิกสุขภาพชาย Men's Health Clinic
เพศชายเป็นเพศที่ต้องดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษไม่แพ้เพศหญิง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพหรือโรคภัยต่างๆ ที่มักเกิดขึ้นกับเพศชาย
4 ปัญหาสุขภาพคุณผู้ชายที่พบได้บ่อย ได้แก่ ปัญหาหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ต่อมลูกหมากโต มะเร็งต่อมลูกหมาก และชายวัยทอง
ปัญหาหย่อนสมรรถภาพทางเพศหมายถึง ภาวะที่อวัยวะเพศชายไม่สามารถแข็งตัว หรือแข็งตัวได้ไม่นานพอที่จะร่วมกิจกรรมทางเพศ บางคนอาจจะหลั่งเร็ว
สาเหตุ...หย่อนสมรรถภาพทางเพศ
1.โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ผนังหลอดเลือดแดงหนาและแข็ง ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน โรคเหล่านี้ล้วนแต่ลดการไหลของเลือดเข้าสู่อวัยวะเพศ เป็นสาเหตุทำให้เกิดการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
2.ระบบประสาทผิดปกติจากอุบัติเหตุ หรือ โรคซึ่งทำให้การเชื่อมประสาทระหว่าง ระบบประสาทส่วนกลางไปยังอวัยวะเพศผิดปกติ เช่น ไขสันหลังกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ หรือโรคระบบประสาท เช่น โรคเส้นโลหิตในสมองตีบ แตก ตัน หรือภายหลังการผ่าตัดต่อมลูกหมาก และสำไส้ใหญ่ เป็นต้น
3.ภาวะทางจิตใจ เช่น ความวิตกกังวล หรือเครียด
4.โรคอื่นๆ เช่น โรคไต โรคตับ โรคซึมเศร้า หรือฮอร์โมนผิดปกติ
5.ยาหลายชนิดมีผลข้างเคียง ทำให้อวัยวะเพศไม่แข็งตัวตามปกติ เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดันโลหิต ยาลดไขมันในเส้นเลือด ยาเบาหวาน ยารักษาอาการซึมเศร้า ยารักษามะเร็ง ยาต้านการอักเสบ (กลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์) และยากันชัก
6.การสูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป หรือ การใช้สารเสพติด
7.อายุมากขึ้น

ต่อมลูกหมากโต อาการของความผิดปกติทั้งในต่อมลูกหมากโต และมะเร็งต่อมลูกหมากนั้นมีความคล้ายกัน และอาจเป็นไปได้ว่าภาวะต่อมลูกหมากโตและมะเร็งต่อมลูกหมาก จะเกิดขึ้นในขณะเดียวกันได้ โรคต่อมลูกหมากโตจนลุกลามกลายเป็นมะเร็งได้ แต่อย่างไรก็ตามต่อมลูกหมากโต สามารถรักษาได้
ต่อมลูกหมากโต เป็นโรคที่พบในชายอายุตั้งแต่ 50 ประมาณร้อยละ 80 จะมีต่อมลูกหมากโต เป็นความผิดปกติที่มีความเจริญทั้งขนาด และจำนวนของเซลล์ต่อมลูกหมากมากกว่าปกติ ทำให้ขนาดของต่อมลูกหมากขนาดโตขึ้น และตำแหน่งของต่อมลูกหมากอยู่รอบๆ ท่อปัสสาวะ ก็จะมีการบีบรัดท่อปัสสาวะให้ตีบ แบน และยาว ทำให้เกิดการอุดกั้นบริเวณท่อทางเดินปัสสาวะ เป็นผลให้ปัสสาวะไหลไม่สะดวก
สาเหตุของโรคต่อมลูกหมากโตคืออะไร การเกิดโรคยังไม่สามารถสรุปสาเหตุได้ชัด แต่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับอายุ
มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate Cancer) เป็นโรคที่พบได้บ่อย และเป็นสาเหตุการตายอันดับสองของมะเร็งที่คร่าชีวิตของผู้ชาย รองจากมะเร็งปอด พบว่าผู้ชาย 1 คน ในทุก 10 คน จะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
สาเหตุ
1.อายุโรคนี้จะพบมากในชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป หรือยิ่งสูงวัยก็ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้น
2.ประวัติครอบครัว พบว่าชายที่มีพ่อ หรือพี่น้องเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก จะมีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากสูงกว่าคนทั่วไป
3.เชื้อชาติ พบไม่บ่อยในชาวเอเชียแต่พบบ่อยในอเมริกา
4.อาหาร พบว่าผู้ที่บริโภคมันจากสัตว์มาก ผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ส่วนผู้ที่บริโภคผักและผลไม้จะลดโอกาสเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก
ในระยะแรกๆ ผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการแต่อย่างใด จนเมื่อก้อนมะเร็งโตลุกลามไปอุดท่อปัสสาวะ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปัสสาวะบ่อย เจ็บปวดเวลาถ่ายปัสสาวะ บางครั้งมีเลือดปนออกมากับปัสสาวะ บางรายอาจมีปัญหาการ แข็งตัวของอวัยวะเพศ

ฮอร์โมนในร่างกาย เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของการเจริญเติบโตของมนุษย์ ในเพศหญิงจะมีฮอร์โมน Estrogen และในผู้ชายจะมีฮอร์โมน Testosterone ซึ่งมีผลต่อสมรรถภาพ และความแข็งแรงของร่างกายเมื่ออายุมากขึ้น ระดับฮอร์โมนเพศในร่างกายจะลดลง ทำให้เกิดกลุ่มอาการต่างๆ ทั้งทางด้านร่างกายจิตใจ และอารมณ์ภาวะที่ระดับฮอร์โมนลดลงในเพศชาย มักเกิดขึ้นเมื่อผู้ชายเริ่มอายุประมาณ 40 ปี อาการต่างๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดฮอร์โมนเพศชายนั้นจะค่อยเป็นค่อยไป อาการที่พบได้ในผู้ชายวัยทองได้แก่ เครียด หงุดหงิด โกรธง่าย ความแข็งแรงของร่างกายลดลง อารมณ์ทางเพศลดลง เหนื่อยง่าย ขาดความมั่นใจในตนเอง ขี้ลืม นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ เป็นต้น

ปัจจัยที่ทำให้ฮอร์โมนเพศชายลดลงเร็วกว่าปกติ
นอกจากอายุที่เป็นปัจจัยทางธรรมชาติที่ทำให้ระดับฮอร์โมนเพศชายลดลงแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกที่ทำให้ผู้ชายเข้าสู่วัยทองเร็วกว่าปกติ ได้แก่ กรรมพันธุ์ ความเครียด ความอ้วน การพักผ่อนน้อย การขาดอาหารบางชนิด เช่น สังกะสี เบต้าแคโรทีน เหล้า บุหรี่ โรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันไต ยาบางชนิด เช่น ยาไทรอยด์

สิ่งอำนวยความสะดวกและเทคโนโลยีทางการแพทย์ของเรา

-

สถานที่ & ติดต่อ

-